ข้อความวิ่ง

ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์...เขื่อนลำปาวม.6ห้อง2

ประวัติเขื่อนลำปาว

     ประวัติ และความเป็นมา :
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว จ.กาฬสินธุ์ สำนักชลประทานที่ 6 (เขื่อนลำปาว)
ภาคอีสาน ได้ชื่อว่าเป็นภาคที่แห้งแล้ง ดินที่ใช้ในการเพาะปลูกมีคุณภาพต่ำ การเพาะปลูกอาศัยน้ำฝน ต้นฤดูกาลเพาะปลูกฝนตกน้อยทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำ แต่ปลายฤดูฝน ฝนตกหนัก ทำให้เกิดอุทกภัยเป็นอยู่อย่างนี้ตลอดมา นับว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเพาะปลูก เป็นเหตุให้ราษฎรเดือดร้อน ยากจน และทิ้งถิ่นฐานเข้าเมืองรับจ้างใช้แรงงาน ก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
           รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งคือการจัดหาแหล่งน้ำ, พัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ในการเกษตร อุปโภคและบริโภค เช่น ก่อสร้างอ่างเก็บกักน้ำทั้งขนาดเล็ก, ขนาดกลางและขนาดใหญ่ ให้ราษฎรได้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง
                 ลำปาว  เป็นลำน้ำสาขาหนึ่งของลำน้ำชี มีต้นน้ำอยู่ที่ อ.หนองหาร อ.กุมภวาปี ได้ไหลผ่าน อ.ศรีธาตุ และ อ.วังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี จากนั้นไหลลงมาเข้าเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ อ.ท่าคันโท อ.หนองกุงศรี อ.ห้วยเม็ก อ.สหัสขันธ์ อำเภอสามชัย อ.คำม่วง อ.เมือง อำเภอฆ้องชัย แล้วไหลลงลำน้ำชีที่ อ.กมลาไสย  รวมความยาว  250  กิโลเมตร
           พื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำลำปาว ส่วนใหญ่ทำนา น้ำฝนต้นฤดูฝนมีฝนตกน้อย หรือ ทิ้งช่วง ปลายฤดูฝน ฝนตกหนักเกิดอุทกภัย น้ำล้นตลิ่งท่วมพื้นที่อาคารบ้านพักอาศัย ทางคมนาคมถูกตัดขาด ก่อให้เกิดความเสียหายแทบทุกปี ในฤดูแล้งราษฎรขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคและการเพาะปลูก ดังนั้นรัฐบาล โดยกรมชลประทาน จึงได้เริ่มศึกษาพิจารณาวางโครงการเพื่อการก่อสร้างเขื่อนปิดกั้นลำปาว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2499 และเริ่มก่อสร้างโครงการในปี พ.ศ.2506 สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511(ระยะที่ 1)
       โครงการฯ ลำปาว ใช้เวลาในการก่อสร้าง 2 ระยะ คือ
 ระยะที่ 1 เริ่มจากปี พ.ศ.2506-2511 โดยการก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำและคูส่งน้ำ งบประมาณ 678 ล้านบาท สามารถส่งน้ำได้ 100,000 ไร่ เริ่มทำการส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 เป็นต้นไป สำหรับพื้นที่โครงการที่ยังเหลืออีก 204,300 ไร่ ต้องชลอการก่อสร้างไว้ก่อนโดยนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น ในปี พ.ศ. 2517 จำเป็นต้องมีการปรับปรุงระบบส่งน้ำและระบบระบายน้ำที่สร้างไว้ เริ่มงานปรับปรุงปี พ.ศ.2518-2523 ใช้งบประมาณ 307 ล้านบาท
 ระยะที่ 2 เริ่มงานก่อสร้างโครงการต่อจากระยะที่ 1 ในปี พ.ศ.2523-2528 การก่อสร้างประกอบด้วยระบบส่งน้ำ ระบบระบายน้ำ และคูส่งน้ำ การก่อสร้างในช่วงปีเรียกว่า "โครงการพัฒนาเกษตรลำปาวระยะที่ 2" ใช้งบประมาณก่อสร้าง 1,200 ล้านบาท สามารถส่งน้ำได้อีก 204,300 ไร่ การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2528 รวมค่าลงทุนในการก่อสร้างโครงการฯ 2,185 ล้านบาท สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกครบเต็มพื้นที่รวม 314,300 ไร่ 
            ข้อมูลโครงการ
ลักษณะเขื่อนลำปาว ตั้งอยู่ที่เขตติดต่อกันระหว่าง อ.ยางตลาด และ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มีถนนเข้าสู่เขื่อนยาว 26 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงสาย จ.มหาสารคาม-จ.กาฬสินธุ์ ที่ กม.33+200 เขื่อนห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ 35 กิโลเมตร

         เขื่อนลำปาว ก่อสร้างเป็นเขื่อนดินปิดกั้นลำน้ำปาวในเขต อ.เมือง และปิดกั้นห้วยยางในเขต อ.ยางตลาด รวมความยาวติดต่อกัน 7.8 กม. สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ที่ระดับ +167.700 ม.รทก. ส่วนที่สูงที่สุดจากท้องน้ำ 3 เมตร ฐานเขื่อนกว้างที่สุด 288 เมตร ถือได้ว่าเป็นเขื่อนที่ยาวที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย ตัวเขื่อนมีอาคารประกอบสำหรับส่งน้ำและระบายน้ำรวม 4 แห่ง คือ
1. อาคารปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งขวา ลักษณะเป็นท่อกว้าง 2.10 เมตร สูง 2.30 เมตร ยาว 52 เมตร จำนวน 3 ท่อ ส่งน้ำได้สูงสุด 37 ลบ.ม./วินาที
2. อาคารปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ลักษณะเป็นท่อกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.50 เมตร ยาว 64 เมตร สามารถส่งน้ำได้สูงสุด 30 ลบ.ม./วินาที
3. อาคารระบายน้ำล้น ลักษณะสันฝายโค้งอยู่ที่ระดับ +160 ม.รทก. มีฝายยางติดตั้งบนสันฝายสูง 2 เมตร จำนวน 3 ช่อง ยาวช่องละ 15 เมตร สามารถระบายน้ำลงลำปาว ได้สูงสุด 1,400 ลบ.ม./วินาที
4. อาคารผันน้ำ ลักษณะเป็นท่อกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร ยาว 114 เมตร ด้านท้ายน้ำแบ่งเป็นช่องขนาดกว้าง 1.25 เมตร สูง 2 เมตร จำนวน 3 ช่อง สามารถระบายน้ำลงเขื่อนลำปาวได้สูงสุด 80 ลบ.ม./วินาที
          เขื่อนลำปาว เมื่อเก็บกักน้ำจะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระัดับ +166.00 ม.รทก. จำนวน 356,600 ไร่ พื้นที่รับน้ำฝนรอบอ่างเก็บน้ำรวม 5,960 ตร.กม. และเก็บกักน้ำที่ระดับ +162.000 ม.รทก.
          อ่างเก็บน้ำลำปาวมีความจุของอ่างสูงสุด 2,450 ล้าน ลบ.ม. (ที่ระดับ +165.700 ม.รทก.) มีความจุของอ่างที่ระดับเก็บกัก ปริมาณน้ำ 1,430 ล้าน ลบ.ม. (ที่ระดับ +162.000 ม.รทก.)
ที่ตั้ง : ที่ทำการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ตั้งอยู่ที่บริเวณเขื่อน สามารถติดต่อทางโทรศัพท์ + โทรสาร : 043-813024  เว็บไซต์ : www.lampao.com อีเมลล์ : info@lampao.com
   
พื้นที่โครงการฯ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว มีพื้นที่ส่งน้ำด้านท้ายเขื่อนรวมทั้งสิ้น 314,300 ไร่ อยู่ในเขต อ.ยางตลาด อ.เมือง อ.กมลาไสย และอำเภอฆ้องชัย การส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำให้ทั่วถึงได้โดยคลองส่งน้ำสายใหญ่ ฝั่งขวาและคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ข้อมูลรายละเอียดังนี้
    1. คลองสายใหญ่ฝั่งขวาความยาว 91.73 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ส่งน้ำ 232,860 ไร่ แพร่กระจายน้ำด้วยคลองซอย แยกซอย จำนวน 86 สาย รวมความยาวคลอง 347.70 กิโลเมตร
    2. คลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ยาว 66.96 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ส่งน้ำ 81.440 ไร่ แพร่กระจายน้ำด้วยคลองซอย แยกซอย จำนวน 26 สาย รวมความยาวคลอง 104.68 กิโลเมตร
     3. รวมคลองส่งน้ำจำนวน 114 สาย ความยาวทั้งสิ้น 611 กิโลเมตร ระบบส่งน้ำในแปลงนาทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา โดยการก่อสร้างคูส่งน้ำลัดเลาะไปตามแปลงกรรมสิทธิ์ ของเกษตรกรทุกเจ้าของ รวมคูส่งน้ำ 1,144 สาย รวมความยาวทั้งสิ้น 2,300 กิโลเมตร
     4. นอกจากนั้นยังได้ก่อสร้างระบบระบายน้ำในพื้นที่ส่งน้ำอีกด้วย เพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุทกภัยเพื่อระบายน้ำส่วนที่เกินที่พืชไม่ต้องการออกจากพื้นที่ โดยการขุดคลองและอาคารประกอบดังนี้
      4.1 คลองระบายน้ำสายใหญ่ จำนวน 57 สาย รวมความยาว 174 กิโลเมตร
      4.2 คลองระบานน้ำสายซอย แยกซอย จำนวน 51 สาย รวมความยาว 74 กิโลเมตร
     5. ก่อสร้างคันกั้นน้ำในลำน้ำปาวและลำน้ำชี รวมความยาว 75.85 กิโลเมตร เพื่อป้องกันอุทกภัย ประโยชน์ที่ได้รับจากการก่อสร้างโครงการ ฯ
   
         1. เป็นหลักประกันได้แน่นอนว่าเกษตรกรจะมีน้ำสำหรับทำการเพาะปลูกในฤดูฝนเต็มพื้นที่โครงการฯ 314,300 ไร่ นอกจากนี้ยังมีน้ำส่งให้กับการปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการฯ อีก 180,000 ไร่ (ประมาณ 60% ของพื้นที่โครงการฯ) สามารถปลูกพืชได้หลากหลายชนิด เกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 30,000 ครัวเรือน
         2. บรรเทาอุทกภัยในช่วงปลายฤดูฝน เมื่อฝนตกหนักด้านเหนืออ่างเก็บน้ำ ปริมาณฝนส่วนน้ำจะถูกเก็บกักไว้ไม่ให้ไหลหลากลงท่วมพื้นที่สองฝั่งลำน้ำด้านท้ายเขื่อน
         3. เนื่องจากเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดเป็นการเพิ่มอาชีพและรายได้ ของราษฎรในการประกอบอาชีพประมง
         4. ในฤดูแล้งยังสามารถระบายน้ำหล่อเลี้ยงลำน้ำปาว เพื่อให้ราษฎรได้ใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคอีกด้วย
         5. เนื่องจากอ่างเก็บน้ำลำปาว มีเขตพื้นที่กว้างใหญ่ติดต่อกันหลายอำเภอทั้งในเขตจังหวัดอุดรธานี และจังหวัดกาฬสินธุ์ อ่างเก็บน้ำลำปาว จึงเป็นทางคมนาคมทางน้ำได้เป็นอย่่างดี
         6. เขื่อนลำปาว ยังเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปนิยมไปเที่ยวชมเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
         7. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามมากที่สุดในภาคอีสาน ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขั้น
หน้าที่รับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว
   
มีหน้าที่รับผิดชอบวางแผน ควบคุมตรวจสอบ และดำเนินการส่งน้ำ และบำรุงรักษาในเขตพื้นที่ของโครงการ ประกอบด้วยอาคารชลประทานขนาดกลาง อาคารชลประทานขนาดเล็ก คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ ควบคุมการจัดสรรน้ำ การปรับปรุงซ่อมแซมระบบการส่งน้ำและระบบระบายน้ำ ที่สามารถส่งน้ำแก่พื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งรวบรวมสถิติข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่า น้ำฝน คุณภาพของน้ำ ลักษณะของดินที่มีความเหมาะสมสำหรับไว้เพื่อการเพาะปลูกพืชต่าง ๆ ควบคุมและบริหารงานทั่วไปด้านธุรการ การเงิน การพัสดุ ติดต่อประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคข้อขัดแย้งในเรื่องของการใช้น้ำ ให้คำแนะนำและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการส่งน้ำ การซ่อมบำรุงรักษาอาคารชลประทานแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ดำเนินการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ อบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ให้รู้จักใช้น้ำชลประทานอย่างถูกวิธี ตลอดจนบริหารงานประตูน้ำของแต่ละโครงการ รวมทั้งปฏิบัติงาน ร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่่อื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น